วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 นายสุรชัย คุ้มสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับเชิญเป็นวิทยากร โครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพความร่วมมือของเครือข่ายการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติขององค์การยูเนสโก ณ โรงแรมปริ้นซ์ พาเลซ กทม. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้บริหาร ครู อาจารย์ ผู้ประสานงาน และนักเรียน/นักศึกษาของสถานศึกษาเครือข่ายการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติขององค์การยูเนสโก ตามธรรมนูญ พันธกิจ และหน้าที่หลักขององค์การยูเนสโก โดยเฉพาะการส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายย่อยที่ 4.7 เรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development : ESD) และการศึกษาเพื่อการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship Education : GCED) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 125 คน สามารถเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์กับบริบทของชุมชนและสังคม สร้างความสามารถในการนำความรู้ไปปรับใช้ในการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างสถานศึกษาในเครือข่าย ASPnet ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาและบูรณาการแนวคิด GCED และ ESD สู่การปฏิบัติจริงอย่างยั่งยืนต่อไป
การประชุมฯ ครั้งนี้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมฯ และทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอว่าด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน (SEAMEO SEPS) สำนักงานยูเนสโกประจำภูมิภาคกรุงเทพฯ (UNESCO Bangkok) และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอ นโยบายการศึกษาและการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ของกระทรวงศึกษาธิการ ตามภารกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาคที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” เน้นการลดภาระครู และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ที่มีการดำเนินงานเชื่อมโยงตามแต่ละเป้าหมายหลักและเป้าหมายย่อย ของ SDG4 ทั้ง 10 เป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายของ SDG4 ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม ในการแก้ไขข้อจำกัดในการดำเนินงานขับเคลื่อน SDG4 ที่ต้องให้ความสำคัญกับภาคีเครือข่าย การสร้างความร่วมมือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการฝึกทักษะอาชีพตามความต้องการของตลาดแรงงาน การเอื้อเฟื้อห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อมในการฝึกปฏิบัติ เพื่อร่วมกันดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด